มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ได้อนุรักษ์พื้นที่ป่าเต็งรังพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ ให้เป็นป่าอนุรักษ์ เพื่อการศึกษา ค้นคว้า วิจัย เกี่ยวกับความหลากหลายด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับป่าเต็งรัง ซึ่งได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ว่า “อุทยานธรรมชาติวิทยาป่าเต็งรังเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ” เนื่องในวาระโอกาสที่ทรงมีพระชนมายุครบ 6 รอบ ในปี พ.ศ. 2547
กองบริหารการวิจัยและบริการวิชาการ ได้เล็งเห็นความสำคัญในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้สิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศในป่าเต็งรัง จึงจัดทำ “เส้นทางศึกษาธรรมชาติเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในอุทยานธรรมชาติวิทยาป่าเต็งรัง เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ” (Nature Study trail for Ecotourism in 72nd years HM Queen Sirikit Chalermphrakiat Dry Dipterocarp Park) พร้อมคู่มือศึกษาเหมาะสำหรับนิสิต บุคลากร ประชาชนทั่วไป เข้าฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
- เพื่ออนุรักษ์พื้นที่ป่าในอุทยานธรรมชาติวิทยาป่าเต็งรังเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถให้คงสภาพป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์
- เพื่อพัฒนาอุทยานธรรมชาติวิทยาป่าเต็งรังเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ ให้มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
- ปลูกจิตสำนึกและให้ความรู้แก่บุคลากร นิสิต ชุมชนโดยรอบและประชาชนทั่วไปที่ได้มีโอกาสมาสัมผัส ให้รู้รักษ์ธรรมชาติและป่าไม้ที่มีคุณค่าในท้องถิ่น
จาการศึกษาเส้นทางธรรมชาติจะมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีชื่นชอบ มีความรักธรรมชาติ โดยเฉพาะเกษตรกรในยุคปัจจุบันและเยาวชนรุ่นใหม่ และนําไปสู่การปลูกจิตสํานึกอันดีต่อไปในอนาคต มีผลให้ลดปริมาณคาร์บอนจากการเดินเท้าตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติเปรียบเทียบกับการใช้รถจักรยานยนต์ เท่ากับ 2,160 กรัมคาร์บอนต่อกิโลเมตรต่อปี
และปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในอุทยานธรรมชาติวิทยาป่าเต็งรังเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ บนพื้นที่ป่า 971.69 ไร่ มีค่าเท่ากับ 25,263.94 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า