คณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ร่วมกับ “กลุ่มเซ็นทรัล” (CENTRAL GROUP) ดำเนินโครงการ “การสร้างแหล่งเรียนรู้ป่าไม้ให้สีพื้นที่ จำนวน 18 ไร่ ของชุมชนบ้านกุดจิก” ภายใต้โครงการ “โครงการบริการวิชาการโครงการท่องเที่ยวชุมชนบ้านกุดจิก จ.สกลนคร (Kut Chik Model Phase 1 by Central and Kasetsart)” โดย กองบริหารการวิจัยและบริการวิชาการ ได้ดำเนินการการสำรวจ การศึกษา การวิเคราะห์ จำแนกกลุ่มชนิดพันธุ์ไม้ให้สี และการออกแบบโครงสร้างฐานข้อมูลโดยใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เริ่มดำเนินงานตั้งแต่เดือน กันยายน พ.ศ. 2566 – ปัจจุบัน
โดยมีวัตถุประสงค์
- เพื่อสำรวจพันธุ์ไม้ จัดการข้อมูล จัดทำระบบฐานข้อมูลพันธุ์ไม้ จัดเก็บตัวอย่างพันธุ์ไม้ให้สีอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ
- เพื่อรวบรวมคู่มือองค์ความรู้ จัดทำข้อมูลป่าให้สี นำไปใช้ประโยชน์และเพิ่มประสิทธิภาพในการสืบค้นข้อมูลสำหรับชุมชนและบุคคลทั่วไป
- เพื่อจัดการระบบการบริหารจัดการ และพื้นที่จัดเก็บฐานข้อมูลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตโดยแสดงข้อมูลพรรณไม้ด้วยระบบ QR Code สำหรับการค้นข้อมูลในโลกออนไลน์ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ถูกต้อง
- เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการวางแผนพัฒนาและเพิ่มศักยภาพของพื้นที่
พื้นที่ศึกษา จำนวน 18 ไร่ เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของนางมงคล ไขลามเมา ชาวบ้านกุดจิก อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร โดยมีแนวคิดสร้างพื้นที่ป่าเป็นต้นแบบแหล่งเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากป่าไม้ให้สี โดยกระบวนการเข้าถึงข้อมูลพรรณไม้ ได้ประยุกต์นำความรู้ทางด้านการจัดการข้อมูลในระบบฐานข้อมูล ใช้เทคโนโลยีเว็บไซต์เป็นเครื่องมือสำหรับการค้นข้อมูลในโลกออนไลน์เป็นประโยชน์และง่ายต่อการเข้าถึงข้อมูล มีการจัดทำระบบฐานข้อมูลนั้นมีประโยชน์และมีความสำคัญ และจัดเก็บข้อมูลของพรรณไม้ ได้แก่ ประเภทพรรณไม้ ช่วงการออกดอก สีของดอก การผลัดใบ ประโยชน์ของพันธุ์ไม้ การใช้งานพันธุ์ไม้ ลักษณะเฉพาะทางของพันธุ์ไม้ และแหล่งที่อยู่ของพันธุ์ไม้ใน ในรูปแบบของ Dynamic website ที่สามารถดึงข้อมูลจากระบบฐานข้อมูลที่เก็บไว้ขึ้นมาแสดงผลบนหน้าเว็บไซต์ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ที่ต้องการจะหาความรู้เกี่ยวกับพรรณไม้ และสืบค้นข้อมูลพรรณไม้จากระบบ QR Code ได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น
ผลของกิจกรรมที่ 1 การสำรวจ การศึกษา การวิเคราะห์ ให้รหัสพันธุ์ไม้ให้สี จำแนกกลุ่มชนิดพันธุ์ไม้ให้สี ได้แก่ ใบ ดอก ชื่อไทย ชื่ออื่น ชื่อท้องถิ่น ชื่อวงศ์ ประเภทพรรณไม้ ช่วงการออกดอก สีของดอก การผลัดใบ เป็นต้น รวมทั้งสำรวจปริมาณความหนาแน่นของพันธุ์ไม้ในพื้นที่
ผลของกิจกรรมที่ 2 การออกแบบโครงสร้างฐานข้อมูลโดยใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยนำข้อมูลคุณลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของพันธุ์ไม้แต่ละชนิด และภาพประกอบของพันธุ์ไม้แต่ละชนิด นำมารวบรวมจัดทำแผ่นข้อมูล นำเสนอผ่านระบบ QR Code รายละเอียดส่งเสริมการใช้ประโยชน์ของต้นไม้ให้สี ส่วนต่างๆ ของต้นไม้ที่นำไปใช้ในการย้อมสีผ้า เทคนิควิธีการใช้งานย้อมสีผ้า เป็นต้น รวมทั้งจัดทำแผนที่ประกอบและจัดทำเนื้อหารูปเล่มเป็นคู่มือพันธุ์ไม้ให้สี พื้นที่ป่า 18 ไร่ บ้านกุดจิก
ผลของกิจกรรมที่ 3 กระบวนการวางระบบการจัดการพื้นที่ จัดทำแผนผังบริเวณ (Landscape Design : Master Plan) การวางแผนเพิ่มปริมาณพันธุ์ไม้ให้สีในพื้นที่ป่า จำนวน 18 ไร่ โดยใช้แนวทางการออกแบบป่าไม้ให้สี เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และอนุรักษ์ทรัพยากรในท้องถิ่น ประกอบด้วย กิจกรรมในพื้นที่ เช่น เส้นทางศึกษาพันธุ์ไม้ให้สี การถ่ายทอดวิธีการเก็บเกี่ยวพันธุ์ไม้ให้สี การถ่ายทอดกระบวนการขยายพันธุ์ ปลูก ตัดแต่งและบำรุงรักษาพันธุ์ไม้ การกำหนดทิศทางทางเข้า-ออก เป็นต้น