ปัจจุบันทรัพยากรธรรมชาติมีแนวโน้มจะเสื่อมโทรมลงเรื่อย ๆ จากการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกและการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งทำให้เกิดการผลิตและการบริโภคจำนวนมหาศาล ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรยังนำไปสู่การขาดแคลนทรัพยากร โดยปัญหาสำคัญคือการขาดแคลนทรัพยากรน้ำ ซึ่งคาดว่าภายใน ๒๐๕๐ ประชากรโลกกว่าครึ่งจะอยู่ในพื้นที่ขาดน้ำ (water stress area) น้ำจะกลายเป็นทรัพยากรที่ทุกฝ่ายต้องแย่งกัน เพราะน้ำไม่ได้ใช้แค่การบริโภคเท่านั้น แต่ยังต้องใช้เพื่อการประปา ไฟฟ้า การเกษตรและอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับป่าไม้ที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์อื่น ๆ เพราะป่าไม้มีประโยชน์ทั้งการเป็นแหล่งวัตถุดิบของปัจจัยสี่ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรคสำหรับมนุษย์ และยังมีประโยชน์ในการรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม ถ้าป่าไม้ถูกทำลายลงไปมาก ๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น สัตว์ป่า ดิน น้ำ อากาศ ฯลฯ เมื่อป่าไม้ถูกทำลาย จะส่งผลไปถึงดินและแหล่งน้ำด้วย ทั้งนี้อาจ จะส่งผลกระทบต่อมาถึงระบบเศรษฐกิจและสังคม เช่น การขาดแคลนน้ำในการการชลประทานทำให้ทำนาไม่ได้ผลขาดน้ำมาผลิตกระแสไฟฟ้า
ดังนั้น การสร้างเครือข่ายวิจัย (research network) และให้ความสำคัญการวิจัยนิเวศวิทยาระยะยาว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติมีความอย่างยั่งยืน การสร้างงานวิจัยด้านนิเวศวิทยาป่าไม้และสิ่งแวดล้อมภายใต้ชื่อ “เครือข่ายวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้ประเทศไทย (Thai Forest Ecological Research Network, T-FERN)” ภายใต้การดำเนินงานของ “ศูนย์ประสานงานเครือข่ายวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้ประเทศไทย (Cooperation Centre of Thai Forest Ecological Research Network)” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างนักวิจัยที่เกี่ยวข้องในการสร้างสรรค์งานวิจัยร่วมกัน ส่งเสริมการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ บทความ ส่งเสริมการฝึกอบรม หรือข้อเสนอแนะต่อสังคม รวมถึงการจัดประชุมสัมมนาวิชาการด้านนิเวศวิทยา นอกจากนี้ ศูนย์ประสานงานเครือข่ายวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้ประเทศไทย ยังได้มีการจัดตั้ง วารสารวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้เมืองไทย (Thai Forest Ecological Research Journal) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๑ เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของบทความทางวิชาการให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น
ปัจจุบันจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศและมนุษยชาติ ส่งผลให้มนุษย์และสังคมต้องมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ จึงจำเป็นต้องยกระดับการศึกษาบทบาทของป่าไม้ ระบบนิเวศ การเกษตร การจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติ และการอนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อให้ธรรมชาติมีความสมดุลและสามารถให้บริการทางนิเวศวิทยา (Ecological services) เพื่อให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์อย่างไม่มีสิ้นสุดจนถึงรุ่นลูกหลาน ดังนั้น กองบริหารการวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ร่วมกับ ศูนย์ประสานงานครือข่ายวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้ประเทศไทย ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ ศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ ศูนย์วิทยาการขั้นสูงด้านทรัพยากรธรรมชาติเขตร้อน ศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านไผ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จึงดำเนินการจัดประชุมทางวิชาการเครือข่ายวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้ประเทศไทย ครั้งที่ 14 ภายใต้หัวข้อ งานวิจัยด้านนิเวศวิทยาป่าไม้กับโลกของคาร์บอนสู่สังคมที่ยั่งยืน (Research on Forest Ecology and the Carbon World for Sustainable Society) ระหว่างวันที่ 23 – 24 มกราคม พ.ศ. 2568 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร เพื่อนำเสนอผลงานทางวิชาการทั้งภาคบรรยาย (oral presentation) และภาคโปสเตอร์ (poster presentation) เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านนิเวศวิทยา ระหว่างนักวิชาการ นักศึกษา รวมถึงผู้สนในทั่วไป ซึ่งจะส่งผลให้การขยายกลุ่มเครือข่ายฯ และส่งเสริมประสิทธิภาพการดำเนินงานภายในเครือข่ายฯ ในด้านการศึกษาวิจัย ตลอดจนการประยุกต์องค์ความรู้ด้านนิเวศวิทยาไปใช้เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ การจัดการและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและอย่างยั่งยืนต่อไป