คณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร จัดทำ “หลักสูตรที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความยั่งยืน และ SDGs ชื่อหลักสูตรวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่นยืน หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2563 และหลักสูตรเทคโนโลยีพลังงานเพื่อความยั่งยืน หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2567
เนื่องด้วยสังคมโลกในปัจจุบันนี้ไม่สามารถปฏิเสธเรื่อง “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ไปได้เลย “อนาคตที่ยั่งยืน” ขององค์กรใด ๆ อยู่ที่ความสามารถในการพัฒนา สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีต่อสังคมเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่ง“การเติบโตอย่างยั่งยืน” ขององค์กรใด ๆ จะอยู่ที่การให้ความสำคัญกับการดำเนินงาน กิจกรรมที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม การดูแลสังคม และธรรมาภิบาล ที่ดำเนินการภายใต้แนวทางของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต
วัตถุประสงค์ของโครงการ
- เพื่อผลิตวิศวกรสิ่งแวดล้อมที่มีความรู้ความสามารถตามมาตรฐานที่สภาวิชาชีพกำหนด และสามารถยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมได้
- เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีทักษะในการบริหารจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและเป็นระบบ
- เพื่อผลิตบัณฑิตที่สามารถประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้
- เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถและมีทักษะในการเจรจาสื่อสาร และนำเสนอการแก้ไขปัญหาด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมในสถานการณ์จริง
- เพื่อผลิตบัณฑิตด้านเทคโนโลยีพลังงานเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานที่สะอาด
- เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถในการออกแบบ การดำเนินงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน
กลุ่มเป้าหมาย คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทั่วประเทศ จำนวน 320 คน
ในการผลิตบัณฑิตวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หลักสูตรเทคโนโลยีพลังงานเพื่อความยั่งยืน สามารถสร้างบุคลากรที่จะดำเนินการและส่งเสริมด้าน SDG จากประเด็นด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2558 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ประเทศไทยและประเทศสมาชิกสหประชาชาติรวม 193 ประเทศ ร่วมลงนามรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (2030 Agenda for Sustainable Development) ซึ่งเป็นกรอบการพัฒนาของโลกเพื่อร่วมกันบรรลุการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) โดยกำหนดให้มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป็นแนวทางให้แต่ละประเทศดำเนินการร่วมกัน จำนวน 17 เป้าหมาย
โดยในด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานมีเป้าหมายที่เชื่อมโยงกับหลักสูตรที่สำคัญ ได้แก่
เป้าหมายที่ 6 สร้างหลักประกันเรื่องน้ำและการสุขาภิบาลให้มีการจัดการอย่างยั่งยืน และมีสภาพพร้อมใช้สำหรับทุกคน
เป้าหมายที่ 7: สร้างหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ที่ยั่งยืนในราคาที่ย่อมเยา
เป้าหมายที่ 11 ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัยทั่วถึง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน โดยลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อคุณภาพอากาศ และการจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่นๆ ภายในปี 2573
เป้าหมายที่ 12 สร้างหลักประกันให้มีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน มุ่งเน้นที่การลดขยะเศษอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภค และลดการสูญเสียอาหารจากกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว ภายในปี 2573 การบรรลุเรื่องการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อจะลดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ภายในปี 2563 และการลดการเกิดของเสียโดยให้มีการป้องกัน การลดปริมาณ การใช้ซ้ำ และการนำกลับมาใช้ใหม่ ภายในปี 2573
เป้าหมายที่ 13 ปฎิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น