มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร, มหาวิทยาลัยนครพนม, หน่วยงานภาครัฐ, โรงงานแปรรูปแป้งมันสำปะหลัง, ผู้นำชุมชน และกลุ่มผู้ปลูกมันสำปะหลัง ได้ดำเนิน โครงการวิจัย “กระบวนการผลิตและแปรรูปมันสำปะหลังสำหรับอาหารคนและสัตว์ในกลุ่มจังหวัดสนุก” Production and processing process of casava for use as human and animal food in SANOOK province group (Sakon Nakhon, Nakhon Phanom, Mukdahan) โดยมุ่งเน้น การศึกษาศักยภาพเพื่อยกระดับการพัฒนาเชิงพื้นที่ของเครือข่าย (Preliminary Research) ภายใต้กรอบ ประเด็นท้าทายตามบริบทพื้นที่ บนฐานเศรษฐกิจ BCG มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อศึกษาปัญหาและข้อจำกัดในกระบวนการผลิตและแปรรูปมันสำปะหลังในกลุ่มจังหวัดสนุก (สกลนคร นครพนม มุกดาหาร) (2) เพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านกระบวนการผลิตและแปรรูปมันสำปะหลังที่มีประสิทธิภาพให้กับกลุ่มผู้นำชุมชนหรือผู้นำด้านเกษตรกร (3) เพื่อให้ได้แผนงานวิจัยและแนวปฏิบัติที่สำคัญร่วมกันสำหรับกระบวนการผลิตและการแปรรูปสำหรับกลุ่มเกษตรกร สถาบันการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมและการผลิต เกษตรกรกลุ่มจังหวัดสนุก (สกลนคร นครพนม มุกดาหาร) มีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 150 คน
สรุปผลการดำเนินโครงการทำให้ทราบถึงปัญหาและข้อจำกัดในกระบวนการผลิตและแปรรูปมันสำปะหลัง จากเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายทั้ง 3 จังหวัด และจากการวิเคราะห์ผลสำรวจจากแบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์ พบว่ามีกลุ่มเกษตรกร 2 กลุ่มหลักๆ ที่มีกระบวนการผลิตและการแปรรูปมันสำปะหลัง กล่าวคือ 1) กลุ่มที่ใช้บริโภคโดยตรง เช่นใช้หัวสดเพื่อเป็นอาหารคนและใช้ส่วนใบ ส่วนลำต้นเป็นอาหารสัตว์ 2) การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง และได้เข้าร่วมโครงการทั้ง 3 กิจกรรมหลัก คือ กิจกรรมที่ 1 การรวบรวมข้อมูล ปัญหาและข้อจำกัดในกระบวนการผลิตและแปรรูปมันสำปะหลังสำหรับอาหารคนและสัตว์ในกลุ่มจังหวัดสนุก กิจกรรมที่ 2 จัดอบรมสร้างองค์ความรู้ในกระบวนการผลิตและแปรรูปมันสำปะหลังให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูก และ กิจกรรมที่ 3 ประชุมเสวนากำหนดแนวปฏิบัติที่สำคัญร่วมกันสำหรับกระบวนการผลิตและการแปรรูป พบว่ายังมีความต้องการเพิ่มองค์ความรู้และขีดความสามารถในการผลิตและแปรรูปมันสำปะหลัง และมีความต้องการให้คณะผู้วิจัยอบรมและให้ความรู้เกี่ยวกับการคัดเลือกสายพันธุ์มันให้เหมาะสมกับพื้นที่การปลูก จากความต้องการของกลุ่มเกษตรกรดังกล่าว คณะผู้วิจัยจึงนำมากำหนดเป็นหัวข้อเพื่อยกร่างโครงการวิจัยการคัดเลือกสายพันธุ์มันสำปะหลังให้เมาะสมกับพื้นที่การปลูก ตลอดจนวิธีการจัดการในกระบวนการผลิตและการแปรรูปให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สามารถสร้างรายได้ในชุมชนและขายพื้นที่การปลูกออกไปให้เพียงพอต่อความต้องการในตลาดในระดับประเทศต่อไป